เมนู

คาถาธรรม


ปิยวรรค1ที่ 16


ว่าด้วยสิ่งที่เป็นที่รัก


[26] 1. บุคคลประกอบตนไว้ในสิ่งอันไม่ควรประกอบ
และไม่ประกอบไว้ในสิ่งอันควรประกอบ ละเสียแล้ว
ซึ่งประโยชน์ ถือเอาอารมณ์อันเป็นที่รัก ย่อมทะเยอ
ทะยานต่อบุคคลผู้ตามประกอบตน บุคคลอย่าสมาคม
กับสัตว์และสังขารทั้งหลายอันเป็นที่รัก (และ) ไม่
เป็นที่รักในกาลไหน ๆ (เพราะว่า) การไม่เห็นสัตว์
และสังขารอันเป็นที่รัก และการเห็นสัตว์และสังขาร
อันไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์ เพราะเหตุนั้น บุคคลไม่พึง
กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก เพราะความพราก
จากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก เป็นการต่ำทราม
กิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ของเหล่าบุคคลผู้ไม่มี
อารมณ์อันเป็นที่รักและไม่เป็นที่รัก ย่อมไม่มี.

2. ความโศกย่อมเกิดแต่ของที่รัก ภัยย่อมเกิด
แต่ของที่รัก ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้ปลดเปลื้องได้
จากของที่รัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน.

3. ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก ภัยย่อมเกิด
แต่ความรัก ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้วจาก
ความรัก ภัยจักมีแต่ที่ไหน.

1. วรรคนี้ มีอรรถกถา 9 เรื่อง.

4. ความโศกย่อมเกิดแต่ความยินดี ภัยย่อม
เกิดแต่ความยินดี ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษ
แล้วจากความยินดี ภัยจักมีแต่ที่ไหน

5. ความโศกย่อมเกิดแต่กาม ภัยย่อมเกิดแต่
กาม ความโศกย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้พ้นวิเศษแล้วจาก
กาม ภัยมีภัยแต่ที่ไหน.

6. ความโศกย่อมเกิดเพราะตัณหา ภัยย่อมเกิด
เพราะตัณหา ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้พ้นวิเศษแล้ว
จากตัณหา ภัยจักมีแต่ที่ไหน.

7. ชนย่อมทำท่านผู้สนบูรณ์ด้วยศีลและทัสสนะ
ผู้ตั้งอยู่ในธรรม ผู้มีปกติกล่าวแต่วาจาสัตย์ ผู้กระทำ
การงานของตนนั้นให้เป็นที่รัก.

8. ภิกษุผู้มีฉันทะเกิดแล้ว ในพระนิพพาน
อันใคร ๆ บอกไม่ได้ พึงเป็นผู้อันใจถูกต้องแล้วก็ดี
ผู้มีจิตไม่เกาะเกี่ยวในกามทั้งหลายก็ดี ท่านเรียกว่า
ผู้มีกระแสในเบื้องบน.

9. ญาติ มิตร และคนมีใจดีทั้งหลาย เห็นบุรุษ
ผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน มาแล้วแต่ที่ไกลโดยสวัสดี
ย่อมยินดียิ่งว่ามาแล้ว ฉันใด บุญทั้งหลายก็ย่อม
ต้อนรับแม้บุคคลผู้กระทำบุญไว้ ซึ่งจากโลกนี้สู่โลก
หน้า ดุจพวกญาติเห็นญาติที่รักมาแล้วต้อนรับอยู่
ฉันนั้น.

จบปิยวรรคที่ 16

16. ปิยวรรควรรณนา


1. เรื่องบรรพชิต 3 รูป [165]


ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภบรรพชิต
3 รูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " อโยเค ยุญฺชมตฺตานํ " เป็นต้น

ตระกูลที่มีลูกชายคนเดียวและหนีไปบวช


ได้ยินว่า มารดาบิดาในตระกูล ในกรุงสาวัตถี ได้มีบุตรน้อย
คนเดียวเท่านั้น เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ. วันหนึ่งบุตรน้อยนั้นฟังธรรมกถา
ของพวกภิกษุที่นิมนต์มาในเรือน ทำอนุโมทนาอยู่ อยากจะบวช จึงขอ
บวชกะมารดาบิดา. มารดาบิดาเหล่านั้นไม่อนุญาต ครั้งนั้นเขาได้มีความ
คิดขึ้นว่า " เมื่อมารดาบิดาไม่เห็นนั่นแล เราจัก (ออก) ไปข้างนอก
แล้วบวชเสีย, " ต่อมา บิดาของเขาเมื่อจะออกไปข้างนอก ได้มอบหมาย
กะมารดาว่า " เธอพึงรักษาบุตรน้อยนี้, " มารดาเมื่อจะออกไปข้างนอก
ก็มอบหมายกะบิดา (เช่นกัน).
ภายหลังวันหนึ่ง เมื่อบิดาของเขาไปข้างนอก มารดาตั้งใจว่า
" จักรักษาบุตร " พิงบานประตูข้างหนึ่ง (อีก) ข้างหนึ่งเอาเท้าทั้งสอง
ยันไว้แล้ว นั่งลงที่แผ่นดินปั่นด้ายอยู่.
เขาคิดว่า " เราจักลวงมารดานี้ แล้ว (หนี) ไป " ดังนี้แล้ว กล่าวว่า
" แม่จ๋า หลีกฉันหน่อยก่อนเถิด, ฉันจักถ่ายอุจจาระ " ครั้นมารดานั้น
หดเท้าแล้ว, ก็ออกไปสู่วิหารโดยเร็ว เข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย อ้อนวอนว่า